ประวัติความเป็นมา
พัฒนาการของมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ดินแดนอีสาน
ดินแดนอีสานได้ปรากฎมีความสัมพันธ์กับรัฐศูนย์กลางของคนไทยที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มาตามลำดับ ตั้งแต่สมัยอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงเทพฯ โดยภายหลังที่เมืองสุวรรณภูมิแยกจากการขึ้นตรงต่อจำปาศักดิ์มาขึ้นกับอยุธยา ซึ่งหัวเมืองต่างๆในอีสานต่างขึ้นกับสุวรรณภูมิต่อหนึ่ง ภายหลังได้เปลี่ยนมาขึ้นกับโคราช และต่อมาจึงได้ให้ทุกหัวเมืองของอีสานขึ้นกับกรุงเทพฯ หลังจากเกิดกรณีเจ้าอนุวงศ์ (พ.ศ. 2369-2371) แต่ความสัมพันธ์ของหัวเมืองอีสานกับศูนย์กลางของรัฐไทย อยู่ในลักษณะเมืองขึ้นที่เพียงส่งส่วยบรรณาการและป้องกันภัยจากญวนเท่านั้น
กระทั่งความสำคัญของดินแดนและหัวเมืองอีสานได้ปรากฎความสำคัญชัดเจนในช่วงที่กระแสการล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตกที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองต่อหัวเมืองแถบนี้ใหม่ รวมทั้งการปฏิรูปการศึกษา ทั้งนี้เพื่อให้คนในรัฐสยามสามารถอ่าน เขียน พูดและเรียนมาตรฐานความรู้อย่างเดียวกัน เพื่อสร้างความเป็น ‘รัฐชาติ ’ (Nation State) ขึ้นมา ครั้นยุคจากการล่าอาณานิคมทางดินแดนสิ้นสุดลง ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองโลกได้แบ่งขั้วการเมืองออกไปอีก ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวประเทศไทยได้มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอันเกิดจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก แผนพัฒนาประเทศทั้งทางการและไม่ทางการได้ทะยอยออกมาใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลตระหนักถึงและเข้าใจว่าการพัฒนาประเทศนั้น เครื่องมือที่สำคัญคือคน ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญ ดังนั้นปัจจัยที่นำมาพัฒนาคนที่สำคัญคือให้ การศึกษา จึงเป็นลงทุนที่เร่งด่วน รัฐบาลในยุคต่างๆได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องหนักเบาตามสถานการณ์และความสนใจของผู้นำในช่วงต่างๆ
เมื่อพิจารณาจากบริบททางประวัติศาสตร์มหาวิทยามหาสารคามนั้นไม่ได้ยืนหยัดอยู่เพียงลำพัง แต่ได้มีปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชุมชนและสังคมตลอดช่วงเวลา ภาพของมหาวิทยาลัยในช่วงต่างๆ จึงสามารถสื่อสะท้อนความคิด โลกทัศน์ ชีวทัศน์ของคนในแต่ละช่วงเวลาได้พอสมควร รวมทั้งมหาวิทยาลัยยังเป็นผลผลิตของท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งได้มีการสร้างสมมาหลายช่วงอายุคน โดยได้ตกผลึกจากการสั่งสมของสิ่งที่เรียกว่า ‘ตัวตน’ และได้เป็นลักษณะเฉพาะของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงถนนประสานมิตร
แรกเริ่มก่อนที่จะมีการก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง นั้นวงการศึกษา ของไทยประสบปัญหาในความล้าหลังของการศึกษาประชาชนส่วนใหญ่ยังมีมาตรฐานการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ,โดยเฉพาะบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้นั้นยังมีข้อจำกัดหลายประการ และยังประสบปัญหาอื่นอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะพื้นที่ตั้งโรงเรียน ซึ่งต้องประสบกับการย้ายที่ตั้งอยู่เสมอ เช่น ในพ.ศ. 2484 เมื่อรัฐบาลได้สถาปนากระทรวงอุตสาหกรรม ใช้พื้นที่ตั้งของโรงเรียนแห่งเดิม จึงจำเป็นต้องย้ายสถานที่ตั้งมาที่ใหม่
ภายหลังได้มีผู้ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาท่านหนึ่งจึงได้พยายามแสวงหาสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อก่อตั้งกิจการวิชาครู ให้เป็นหลักฐานมั่นคงสืบไป คือ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งมีความกังวลต่อสภาพการณ์ดังกล่าว จนสามารถมาได้พื้นที่บริเวณถนนประสานมิตร ริมคลองแสนแสบ ซึ่งเดิมพื้นที่ ดังกล่าวก่อนนั้นเคยใช้เป็นฟาร์มเลี้ยงโค เพราะในระหว่างสงครามไม่มีนมเนยเข้ามาจากต่างประเทศ ท่านจึงได้ทำหนังสือราชการขอซื้อที่จากกระทรวงเกษตรทันที ในราคาวาละ 38 บาท รวมทั้งขอซื้อจากเจ้าของรายอื่นใกล้เคียงเพิ่มเติม
จากนั้นจึงได้มีการก่อสร้างอาคารและจัดให้มีการประชุมกัน ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2492 เพื่อกำหนดนัดหมายทำความเข้าใจ เรื่องคำสั่งเปิด โรงเรียน และแต่งตั้งคณะกรรมการและระเบียบ ลงวันที่ 28 เมษายน 2492 จึงได้กำหนดวันดังกล่าวเป็นวันก่อตั้งโรงเรียน และมีการพิจารณาตั้งชื่อชั่วคราวว่า ‘ โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงที่ถนนประสานมิตร อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร’
วิทยาลัยวิชาการศึกษา
ต่อมาวงการศึกษาได้ประสบปัญหาเข้ามาอีกทั้งภาวะการขาดแคลนครูเป็นอันมากและวุฒิครูสูงที่สุดคือวุฒิป.ม.(ประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม) ซึ่งเทียบเท่ากับอนุปริญญาเท่านั้น ทำให้เกิดความล้าหลังในอาชีพครู, อีกทั้งครู ป.ม. บางคนเมื่อศึกษาเพิ่มเติมสูงขึ้นได้ปริญญาทางด้านอื่นแล้วต่างลาออกไปประกอบอาชีพใหม่ที่เข้าใจว่ามีความก้าวหน้ามากกว่า ผู้ใหญ่ในวงการศึกษาจึงได้มีการปรึกษาหารือและดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาตามลำดับ แต่ความเข้าใจในเวลานั้นของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบุคคลในพรรครัฐบาล จึงต้องใช้ความพยามยามอย่างมาก
ดร. สาโรช บัวศรี เป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เข้าชี้แจงให้คณะรัฐบาลเข้าใจถึงเหตุและผลที่จะดำเนินการและสิ่งที่เกิดขึ้น หากให้สามารถเปิดสอนครูถึงระดับปริญญา และสามารถชี้แจงจนเข้าใจร่วมกันได้ ซึ่งในที่สุดที่ประชุมจึงได้มีมติยอมรับ และผ่านพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษาออกมา แต่กว่าที่จะได้มีการยอมรับนั้นค่อนข้างพบอุปสรรคพอสมควร
“ตอนนั้นในหมู่ประชาชนความคิดที่ว่าจะให้ครูเรียนถึงปริญญายังไม่มี ดังนั้นการเสนอให้ครูมีการศึกษาถึงระดับปริญญาตรีเป็นของที่แปลกมาก อีกประการหนึ่งนั้นจะให้สถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัยประสาทปริญญานี้ยิ่งไม่เข้าใจใหญ่ ฉะนั้นพอกฎหมายไปถึงพรรคเสรีมนังคศิลาแล้ว ผมก็ต้องไปชี้แจงหนักหน่วงมาก เพราะท่านผู้แทนสมัยโน้นเขาไม่เข้าใจเลย เป็นวิทยาลัยอะไรให้ปริญญา? เป็นครู, เป็นศึกษาธิการอำเภอจะเอาปริญญาเชียวหรือ? ผมก็ต้องชี้แจงมากมาย…
…แต่พอมาถึงประเด็นที่ว่า วิทยาลัยจะประสาทปริญญาได้นี่ไม่เคยเห็นมีแต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น เป็นแค่วิทยาลัยจะมาประสาทปริญญาไม่เห็นด้วย เป็นไปไม่ได้ ผมก็ออกไปชี้แจงอีก…แต่เขาก็ไม่ฟังเสียง เป็นวิทยาลัยจะมาประสาทปริญญาได้อย่างไร ตอนนั้นผมก็หนักใจมาก แต่ก็กัดฟันชี้แจงต่อไปอีก แล้วก็เป็นการบังเอิญมีรัฐมนตรีท่านหนึ่งซึ่งอยู่ในที่ประชุมและผมทราบลูกของท่านเรียนอยู่ที่วิทยาลัยแห่งหนึ่งในรัฐ California กำลังทำปริญญาเอกด้วย ทำไมทำได้ล่ะ เขาจึงค่อยเงียบเสียงลง…(ศาสตราจารย์ ดร. สาโรช บัวศรี ปราชญ์ผู้ทรงศีล . 2531:63 – 64.)
อย่างไรก็ตามในที่สุดก็สามารถตราพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้สำเร็จ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2497 ระหว่างนั้นอาจารย์บุญถิ่น อัตถากร อธิบดีกรมการฝึกหัดครู (พ.ศ.2500 –2513) และเป็นคณะกรรมการร่วมของโครงการพัฒนาการศึกษาด้วย ซึ่งให้ความสำคัญกับงานฝึกหัดครูอย่างมาก จากแนวคิดในการดำเนินการขยายการฝึกหัดครูระดับปริญญาไปสู่ส่วนภูมิภาคนั้น จึงได้มีการขยายวิทยาลัยวิชาการศึกษา ซึ่งขณะนั้นยังสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และมีความคล้ายคลึงทั้งในที่มา จุดประสงค์และการดำเนินการเพื่อผลิตบุคลากรวิชาชีพครู เหมือนกับกรมการฝึกหัดครู โดยแนวคิดของอาจารย์บุญถิ่น อัตถากรนั้น
“…ต้องการใช้การศึกษาพัฒนาชุมชนในชนบท โดยต้องรีบผลิตครูที่มีคุณภาพและจำนวนมากพอเพียงออกไปเป็นผู้นำ โดยการศึกษาฝึกหัดครูจะต้องเป็นขั้นๆโดยลำดับจนถึงขั้นปริญญา ขณะเดียวกันก็ค่อยลดการผลิตครูระดับประกาศนียบัตรลงจนเลิกไปในที่สุด และผลิตครูขั้นปริญญาเพิ่มขึ้นๆ และเมื่อถึงโอกาสอันสมควร, สถานศึกษาฝึกหัดครู , สถานศึกษาอาชีวศึกษาและสถาบันขั้นปริญญาต่างๆ ซึ่งอยู่ในจังหวัดเดียวกันและจังหวัดใกล้เคียง ก็จะรวมกันเป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาค “ (กรมการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ. 2535:139.)
จากนั้นจึงได้มีการขยายวิทยาเขตไปสู่ภาคต่างๆทุกภาค โดยได้เปิดสอนแห่งเดียวในแต่ละภาค คือ ภาคเหนือเปิดที่พิษณุโลก (25 มกราคม 2510) ภาคใต้ที่สงขลา (1 ตุลาคม 2511) ภาคตะวันออกที่ชลบุรี (8 กรกฎาคม 2498) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มหาสารคาม และกรุงเทพฯที่บางเขน (27 มีนาคม 2512)
วิทยาลัยวิชาการศึกษา วิทยาเขตมหาสารคาม
บุคคลที่มีคุณูปการต่อวงการศึกษาไทยท่านหนึ่ง คืออาจารย์บุญถิ่น อัตถากร อดีตอธิบดีกรมการฝึกหัดครู (พ.ศ. 2500 – 2513) อีกทั้งมีภูมิลำเนากำเนิดอยู่ที่จังหวัดมหาสารคามซึ่งได้มีแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาตอนนั้นว่า ต้องการใช้การศึกษาพัฒนาชุมชนในชนบท โดยต้องรีบผลิตครูที่มีคุณภาพและจำนวนมากพอเพียงออกไปเป็นผู้นำ โดยการศึกษาฝึกหัดครูจะต้องเป็นขั้นๆ โดยลำดับจนถึงขั้นปริญญา ขณะเดียวกันก็ค่อยลดการผลิตครูระดับประกาศนียบัตรลงจนเลิกไปในที่สุด และผลิตครูขั้นปริญญาเพิ่มขึ้นๆ และเมื่อถึงโอกาสอันสมควร, สถานศึกษาฝึกหัดครู , สถานศึกษาอาชีวศึกษา และสถาบันขั้นปริญญาต่างๆ ซึ่งอยู่ในจังหวัดเดียวกันและจังหวัดใกล้เคียง ก็จะรวมกันเป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาค ทั้งนี้อาจารย์บุญถิ่น อัตถากร ได้มีแนวคิดและเหตุผลที่เลือกจังหวัดมหาสารคามให้เป็นที่ตั้งของวิทยาลัย “ครูปริญญา” ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นว่า
“…ทางภาคเหนือนั้น เดิมเราตั้งใจจะเปิดที่เชียงใหม่ก่อน แต่เมื่อมีมหาวิทยาลัยตั้งขึ้นในระยะที่เรากำลังดำเนินการอยู่ จึงเปิดที่พิษณุโลก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นขั้นแรกเตรียมจะเปิดที่อุบลหรืออุดรธานี แต่ในระยะนั้นแถบชายแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ค่อยเรียบร้อยจึงเปิดที่มหาสารคาม ในภาคใต้และภาคกลางก็จะเปิดหลายแห่ง แต่เนื่องจากกำลังคนมีจำกัด จึงเปิดเพียงสองแห่งไปตามกำลังคนที่มีอยู่ในขณะนั้น คือที่สงขลาและบางเขน” (กรมการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ.2535: 137)
ในส่วนของวิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคามในช่วงระยะแรกของการก่อตั้งนั้นต้องประสบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานอันเกิด จากความไม่พร้อมในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็น อาคารสถานที่ บุคลากร อุปกรณ์ครุภัณฑ์ประกอบการเรียนการสอน จึงต้องอาศัยวิทยาลัยครูมหาสารคามในเบื้องต้นเกือบทั้งหมดที่กล่าวมาช่วยพยุงและเป็นพี่เลี้ยงในช่วงก่อร่างสร้างตัวซึ่งปัญหาดังกล่าว วิทยาลัยวิชาการศึกษาอื่นที่ไปตั้งในแต่ละภูมิภาคต่างประสบเช่นกันและแก้ปัญหาดังที่กล่าวมา
หลักสูตรที่เปิดสอนในปีการศึกษาแรก พ.ศ. 2511 มี 2 วิชาเอกคือ วิชาเอกภาษาอังกฤษและชีววิทยา โดยสามารถเปิดรับนิสิตได้ทั้งสิ้น 134 คน ซึ่งนิสิตที่มาเรียนในระยะแรก ปีการศึกษา 2511 – 2515 เป็นนิสิต ที่คัดเลือกจากนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีจากวิทยาลัยครูทั่วประเทศมาศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี 2 ปี
ในปีการศึกษา 2512 อาคารของวิทยาลัยได้สร้างเสร็จและสามารถเปิดใช้ได้ คือ อาคารเรียน 1 ,หอสมุด, หอศิลป์ ,โรงอาหาร , หอพักชาย และหอพักหญิง จากนั้นวิทยาลัยจึงได้มีการพัฒนามาตามลำดับ
โดยในปี 2514 ได้มีการดำเนินการขอพื้นที่ฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นที่ราช พัสดุ ของกองทัพ อากาศ ซึ่งได้ใช้เป็นสนามแข่งม้าและสนามบินจากนั้นจึงได้มีการก่อสร้างอาคารเรียนและหอพักเพิ่มเติมขึ้นมา
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม
ณ วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2517 ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 91 ตอนที่ 112 ดังนั้น ในวันที่ 29 มิถุนายน 2517 โดยรวมวิทยาลัยเขตทั้งหมดเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แล้วโอนไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และเรียกชื่อมหาวิทยาลัยและชื่อวิทยาเขตตามสถานที่ตั้งของวิทยาเขตต่อท้าย ยกเว้นวิทยาเขตพระนครให้เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางเขน
ก่อนที่จะได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยได้นั้น ทางวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่ศาสตราจารย์ ดร. สุดใจ เหล่าสุนทร เข้าดำรงตำแหน่งอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา และเห็นว่าการบริหารงานของวิทยาลัยนั้นขาดความคล่องตัวอยู่มาก เนื่องด้วยข้อจำกัดหลายประการอันจะเป็นปัญหาระยะยาวในการขยายผลด้านการศึกษาในอนาคตต่อไป ท่านจึงได้ร่างพระราชบัญญัติเพื่อขอยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยต่อสภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา โดยในระหว่างนั้น ศาสตราจารย์ ดร. สุดใจ เหล่าสุนทร ได้ออกเอกสารที่ช่วงนั้นเรียกว่า ‘เอกสารปกขาว’ เพื่อชี้แจงหลักการและเหตุผลดังกล่าวแก่ผู้ที่สนใจรับทราบ โดยคำปรารภของเอกสารชิ้นนี้ ได้กล่าวว่า
“…เมื่อข้าพเจ้าได้รับตำแหน่งอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษาเมื่อเดือนมกราคม 2512 ได้พบว่าการดำเนินงานของวิทยาลัยวิชาการศึกษาไม่มีความคล่องตัวเป็นอันมาก จึงได้ร่างพ.ร.บ. ยกฐานะวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเสนอต่อประธานสภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2512 และรอรับฟังพิจารณาอยู่ 1 ปีเต็ม จนถึงเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2512 จึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ. นี้ต่อประธานสภาวิทยาลัยวิชาการอีกครั้งหนึ่ง และเสนอให้เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ เพื่อพิจารณาอีกทางหนึ่ง
อาจจะเป็นเพราะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็น ‘วิทยาลัย’ ในความหมายของความเข้าใจของบุคคลทั่วไปว่า ไม่ใช่สถานศึกษาชั้นปริญญาในระดับมหาวิทยาลัย ดังที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาได้ดำเนินงานอยู่จริง จึงเห็นสมควรที่จะออกเอกสารฉบับนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่บุคคลที่สนใจในการศึกษาขั้น ‘มหาวิทยาลัย’…” (ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.2541:270.)
โดยได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อไปตามลำดับ โดยเป็นการดำเนินการโดยวิธีการที่ถูกต้องตามขั้นตอนระเบียบแบบแผนของทางราชการ เริ่มตั้งแต่สภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ สภาการศึกษา สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จากนั้นเรื่องได้ติดชะงักไปในช่วงหนึ่ง อันเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศที่ไม่เอื้อในเวลานั้น การดำเนินการจึงได้มายุติโดยการยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นกรมหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 จากการที่วิทยาลัยโดยความร่วมมือทั้งอาจารย์และนิสิตได้พยายามดำเนินการมาตามลำดับอย่างสม่ำเสมอและด้วยความจริงจัง กระทั่งในวันที่ 16 มกราคม 2517 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัย และได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ กระทั่งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2517 ขึ้นมา
ชื่อมหาวิทยาลัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานให้เป็นมงคลนามและพระราชทานความหมายว่า ” มหาวิทยาลัยที่เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานคร ” โดย ‘ วิโรฒ ‘ มาจาก ‘ วิรูฒ ‘(ภาษาสันสกฤต) ‘ วิรุฬห์ ‘ (ภาษาบาลี) ซึ่งแปลว่า ” เจริญ , งอกงาม ” ซึ่งก่อนที่จะได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยนั้น ทางวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้ดำเนินการมาตามขั้นตอนและลำดับ โดยได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2512 และเป็นการดำเนินการโดยวิธีการที่ถูกต้องตามขั้นตอนระเบียบแบบแผนของทางราชการ เริ่มตั้งแต่สภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา, กระทรวงศึกษาธิการ , สภาการศึกษา , สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี , ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จากนั้นเรื่องได้ติดชะงักไปในช่วงหนึ่ง อันเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศที่ไม่เอื้อในเวลานั้น การดำเนินการจึงได้มายุติโดยการยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นกรมหนึ่งของ กระทรวงศึกษาธิการ ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515
ภายหลังทางวิทยาลัยโดยความร่วมมือทั้งอาจารย์และนิสิต ได้พยายามดำเนินการมาตามลำดับ ทั้งนี้โดยตระหนักจากการพิจารณาองค์ ประกอบความพร้อมในด้านต่างๆของวิทยาลัยและประโยชน์อันจะเกิดขึ้นต่อ วิทยาลัยและในวงกว้างทางการศึกษาและประเทศชาติต่อไป ทางวิทยาลัย จึงได้มีการชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นในการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยได้ดังนี้
แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขพระราชบัญญัติและยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย จากการดำเนินการมาตามลำดับอย่างสม่ำเสมอและด้วยความจริงจัง กระทั่งในวันที่ 16 มกราคม 2517 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ยกฐานะ วิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัย และได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ กระทั่งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2517 ดังกล่าวมาข้างต้น หลังจากที่ได้ยกฐานะแล้ว ทางมหาวิทยาลัยฯได้นำวิธีสอบคัดเลือกนิสิต เข้าศึกษาใน 2 ระดับ คือชั้นปีที่ 1 และ 3
ซึ่งในปีการศึกษานี้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคามยังคงรับนิสิตภาคปกติที่จบป.กศ. สูงเข้าศึกษาชั้นปีที่ 3 โดยวิธีการสอบคัดเลือกเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ คือได้เปิดรับสมัครสอบนิสิตชั้นปีที่ 1 เข้าเรียนหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปีเป็นปีแรกโดยใช้ วิธีการสอบผ่านทบวงมหาวิทยาลัย โดยรับทั้งสิ้น 63 คน สำหรับวิชาเอกที่เปิดในปีการศึกษา 2517 มีดังนี้ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ , ฟิสิกส์ , เคมี , ภูมิศาสตร์ ,คณิตศาสตร์ , ภาษาไทย , สังคมศึกษา ,ภาษาอังกฤษ , ชีววิทยา , และการประถมศึกษาซึ่งได้ใช้วิธีการสอบแข่งขันในการคัดเลือกผู้มาเรียนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนั้นยังได้ยกฐานะหน่วยงานสำคัญขึ้นมา 2 หน่วย งานใน ปีพ.ศ. 2529 พร้อมกับ ‘ คณะเทคโนโลยี ‘ คือ ‘สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ‘ ตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัยในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 103 ตอนที่ 198 หน้า 9 -10 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2529 ‘ สำนักวิทยบริการ ‘ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 36 – 42 เล่มที่ 103 ตอนที่ 139 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2529 และ ‘ สถาบันวิจัยรุกขเวช ‘ ตามประกาศจัดตั้งในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2536
มหาวิทยาลัยได้มีพัฒนาการมาตามลำดับโดยอาศัยเงื่อนไขของเวลาในการสร้างความพร้อมต่างๆ กระทั่งสามารถดำเนินการแยกเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศสำเร็จภายใต้ชื่อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2537 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 111 ตอนที่ 54 ก นับเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งที่ 22 ของประเทศไทย
สำหรับแนวคิดในการแยกตัวเป็นเอกเทศนั้นได้เริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527 โดย ดร.ถวิล ลดาวัลย์รองอธิการบดีเวลานั้นได้มีแนวความคิดที่จะรวมสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลักๆของจังหวัดมหาสารคามเข้าเป็นมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่แนวคิดดังกล่าวได้ติดขัดปัญหาบางประการจึงไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เช่น ปัญหาของต้นสังกัดเดิมของแต่ละสถาบัน เป็นต้น ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2531 รองศาสตราจารย์ ดร. วีระ บุญยกาญจนะเป็นรองอธิการบดีจึงได้มีการเสนอให้แยกออกจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒอีกครั้ง โดยให้ลักษณะเป็นสถาบันในนามของสถาบันบัณฑิตศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท แต่ให้มีสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัย หากแต่ไม่อาจดำเนินต่อไปให้สัมฤทธิ์ผลได้เช่นกัน
กระทั่งในปี พ.ศ. 2535 เมื่อรองศาสตราจารย์ ดร. จรูญ คูณมีเป็นรองอธิการบดี จึงได้มีสืบสานแนวคิดที่จะแยกตัวออกอีกครั้ง และเริ่มปรากฏผลชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ประกอบกับในช่วงเวลานั้น นายสุเทพ อัตถากร ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งโดยส่วนตัวท่านเองได้ให้สนใจและความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในการสนับสนุนแนวคิดที่จะให้มีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นในจังหวัดมหาสารคาม การดำเนินงานจึงได้เริ่มตั้งแต่การแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหาสารคามและคณะกรรมการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2535
จากนั้นจึงได้ดำเนินงานมาตามขั้นตอนจนสามารถยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยได้สำเร็จดังที่กล่าวข้างต้นในช่วงรองศาสตราจารย์ ดร. บุญชม ศรีสะอาด เป็นรองอธิการบดี ซึ่งได้สืบสานแนวคิดและการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องโดยได้รับความร่วมมืออย่างมุ่งมั่นและจริงจังจากทุกท่านทุกฝ่าย ทั้งบุคคลภายในและภายนอกในสายงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเป็นอันมาก ในระหว่างที่มีการดำเนินการเพื่อยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศนั้นได้มีการทบทวนเรื่องชื่อของมหาวิทยาลัยเพื่อหาความเหมาะสมและเห็นพ้องต้องกันทุกฝ่าย โดยการดำเนินการสำรวจประชามติให้เป็นเอกฉันท์ ซึ่งชื่อที่เสนอในครั้งนั้นมีความหลากหลายของที่มาและแนวคิด ตั้งแต่ชื่อมหาวิทยาลัยอีสาน มหาวิทยาลัยภัทรินธร มหาวิทยาลัยศรีเจริญราชเดช มหาวิทยาลัยศรีมหาชัย มหาวิทยาลัยศรีมหาสารคาม จนกระทั่งได้มาเห็นชอบพร้อมกันต่อชื่อ มหาวิทยาลัยมหาสารคามในเบื้องท้ายดังปรากฏในปัจจุบัน
ภายหลังได้มีการขยายพื้นที่มายัง “ป่าโคกหนองไผ่” ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม บนเนื้อที่ประมาณ 1,300 ขณะนั้นของรองศาสตราจารย์ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคามคนแรก (พ.ศ. 2538-2546) และได้ดำเนินการสร้างอาคารต่างๆตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ภายหลังจึงได้ย้ายศูนย์กลางบริหารงานมา ณ ที่ทำการแห่งใหม่ในปีการศึกษา 2542 อีกทั้งยังได้มีการเปิดสาขาวิชาและคณะใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อเปิดบริการทางการศึกษาให้มีหลากหลายมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้เปิดสอนหลักสูตรและสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วย คณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเทคโนโลยี คณะการบัญชีและการจัดการ คณะเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์- ผังเมือง-นฤมิตศิลป์ และโครงการจัดตั้งคณะใหม่อีกทะยอยเปิดในแต่ละปีการศึกษา คือ โครงการจัดตั้งคณะวิทยาการสารสนเทศ โครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะการโรงแรมและการท่องเที่ยว และ คณะแพทย์ศาสตร์ เป็นต้น
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังได้เปิดสอนระดับประถมและมัธยมศึกษาใน โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยเปิดสอนในปีการศึกษา 2540 เป็นปีการศึกษาแรกและยังได้ขยายการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโทไปยังวิทยาเขตนครพนมและศูนย์พัฒนาการศึกษาอุดรธานี โดยใช้สอน ระบบทางไกลผ่านดาวเทียม ในเวลานี้ทางมหาวิทยาลัยยังได้มีโครงการที่กำลังดำเนินการและจะดำเนินการอีกมาก ทั้งนี้เพื่อผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศชาติและองค์รวมเบื้องปลายต่อไป
ความโปร่งใส (ITA) :
ช่องทางสื่อสาร :
เขตพื้นที่ในเมือง 269/2 ถ.นครสวรรค์ ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม 44000
เขตพื้นที่ขามเรียง 41/20 ต.ขามเรียง อ. กันทรวิชัย จ. มหาสารคาม 44150
Copyright © 2023 All Rights Reserved
สำนักพระราชวัง ขอเชิญชวนประชาชนร่วมลงนามถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๗ ผ่านระบบออนไลน์ ที่เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ https://www.royaloffice.th ระหว่างวันที่ ๗ – ๙ มกราคม ๒๕๖๗